มะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุของการสูญเสียเต้านมและความมั่นใจของผู้หญิง ซึ่งพบว่าเป็นอันดับต้น ๆ ของมะเร็งที่พบในผู้หญิงวัย 40 ปีขึ้นไป แม้ว่าปัจจุบัน ทางการแพทย์จะไม่ได้สรุปว่าโรคมะเร็งเต้านมเกิดจากสาเหตุใด แต่สามารถระบุได้ว่า ผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูง คือ
– การเป็นมะเร็งจากพันธุกรรมครอบครัว
– การมีประจำเดือนเร็วก่อนอายุ 12 ปี
– การกินยาคุมกำเนิดต่อเนื่องหลายปี
– หมดประจำเดือนช้า คือ ประจำเดือนครั้งสุดท้ายเมื่ออายุ 55 ปีขึ้นไป
– ตรวจพิเศษทาง DNA พบว่ามียีนส์กลายพันธุ์ ชนิด BRCA (ย่อมาจาก Breast Cancer) ชนิดที่ 1 และ 2
ซึ่งการรักษาโรคมะเร็งเต้านมในปัจจุบันจะได้ผลดี หากรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่มที่ตรวจพบความผิดปกติ โดยมีวิธีที่นิยม คือ
- ฉายรังสี
- ใช้ยาฮอร์โมนรักษามะเร็งเต้านมโดยเฉพาะ ได้แก่
– ยาทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen) ทานวันละ 1 เม็ด นาน 5 ปี เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งและลดเปอร์เซ็นต์ที่มะเร็งจะกลับมาอีก
– ยาโกเซเรลิน (Goserelin) ฉีดที่ผิวหน้าท้องทุกเดือน
– ยาฟีมารา (Femara) สำหรับผู้เป็นมะเร็งเต้านมในวัยทอง
- คีโม หรือเคมีบำบัด เป็นการฉีดยาเคมีทางเส้นเลือด ทุก ๆ 3 อาทิตย์ 4 ครั้ง โดยครั้งหนึ่ง ๆ จะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งที่ลุกลามจากเต้านมไปเข้าเส้นเลือดหรือต่อมน้ำเหลืองแล้ว
- ยาจำเพาะที่เซลล์มะเร็ง เช่น ยาเฮอร์เซปติน (Herceptin) เป็นยากลุ่มใหม่ ที่อาการข้างเคียงด้านความอ่อนเพลีย เม็ดเลือดตก ภูมิต่ำ น้อยกว่ายากลุ่มเดิม ๆ (คีโม ฉายแสง) แต่ก็ทำให้เกิดสิวทั้งตัวได้
- ผ่าตัดเต้านมแนวใหม่
จากเดิมเป็นการผ่าตัดที่ต้องเฉือนเนื้อเต้านมข้างที่เป็นมะเร็งออกไปแล้วเย็บปิด ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่รู้สึกทุกข์ใจและขาดความมั่นใจในการสวมใส่เสื้อผ้า
ปัจจุบันมีการผ่าตัดมะเร็งเต้านมแนวใหม่ ที่รพ.ศิริราชได้ให้บริการตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งรวมเอาวิธีผ่าตัดกับฉายรังสีไว้ด้วยกัน ทำให้ประหยัดเวลา (ทำผ่าตัดครั้งเดียว เสร็จภายใน 5 นาที) และที่สำคัญ คือ ผู้ป่วยไม่ต้องสูญเสียเนื้อหรือหัวนมอย่างอดีต
แม้ว่าปัจจุบันจะมีการคิดค้นวิธีการรักษามะเร็งเต้านมที่ให้ประสิทธิผลสูงในการจัดการเซลล์มะเร็งได้หลายวิธี แต่วิธีการที่ดีที่สุดที่เราดูแลตัวเองได้ คือการคลำเต้านมเป็นประจำเพื่อหาความผิดปกติตั้งแต่ระเยะแรกเริ่ม ซึ่งทำให้มีเปอร์เซ็นต์รักษาหายขาดสูง
ซึ่งเราสามารถสังเกตความผิดปกติของเต้านมได้จากการคลำด้วยนิ้วมือที่เต้านม และบีบที่หัวนมเพื่อดูว่ามีสิ่งคัดหลั่งไหลออกมาหรือไม่ หากพบว่ามีความผิดปกติเช่น มีก้อนแข็ง-ก้อนขรุขระ อยู่ภายในเต้านมข้างใดหรือทั้งสองข้าง หัวนมบุ๋มลึกลงไป ผิวเต้านมมีอาการรั้งเป็นรอยลักยิ้ม มีผื่นหรือผิวหนังที่เต้านมขรุขระผิดปกติ หรือทรงเต้านมเปลี่ยนไปจากเดิม ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจโดยละเอียดและรักษาโดยไวที่สุด
ขอบคุณภาพหน้าปกจาก : https://www.freepik.com/index.php?goto=74&idfoto=3039346