โรคออฟฟิศซินโดรม เรียกได้ว่าเป็นโรคคู่กายของวัยทำงานทั้งชายหญิง เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานเกือบตลอดเวลา ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องนั่งทำงานอยู่กับที่ วันละหลายชั่วโมง รวมทั้งมีความนิยมออกกำลังกาย เช่น วิ่ง ไตรกีฬา ซึ่งพบว่านักกีฬามือใหม่ที่ทำการวอร์มร่างกายไม่เพียงพอก็จะมีอาการของโรคออฟฟิศซินโดรมได้เช่นกัน
ทั้งนี้ โรคออฟฟิศซินโดรมเป็นกลุ่มอาการอักเสบของกล้ามเนื้อบริเวณหลัง ไหล่ ลำคอ ที่พบว่าผู้ที่นั่งทำงานด้วยสรีระท่าทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น นั่งไขว่ห้าง นั่งหลังค่อม จะเสี่ยงเกิดกล้ามเนื้ออักเสบได้ง่ายขึ้น เนื่องจากการถ่ายน้ำหนักตัวที่ไม่สมดุล ทั้งนี้ยังมีความนิยมเล่นเกมอีสปอร์ต ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกกีฬา ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะมีผู้เป็นโรคออฟฟิศซินโดรมจากการมีกิจกรรมใหม่ ๆ หรือไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ
สำหรับอาการของโรคออฟฟิศซินโดรมนั้น ทางการแพทย์จะแยกเป็น 3 ระดับความรุนแรง คือ
- โรคออฟฟิศซินโดรมขั้นเล็กน้อย คือ จะปวดกล้ามเนื้อส่วนบ่า หลัง ข้อมือ เป็นพัก ๆ แต่เมื่อได้หยุดกิจกรรมที่ทำให้ปวด หรือเปลี่ยนอิริยาบถ ก็สามารถหายได้เอง
- โรคออฟฟิศซินโดรมขั้นปานกลาง เป็นอาการปวดที่คงอยู่ยาวนานกว่าขั้นที่ 1 โดยผู้ที่มีอาการกล้ามเนื้ออักเสบจะยังรู้สึกตึงปวด กดเจ็บอยู่แม้หลังจากได้นอนหลับพักผ่อนไปแล้ว
- โรคออฟฟิศซินโดรมขั้นรุนแรง เป็นอาการปวดอักเสบที่คงอยู่ตลอดเวลา แม้จะไม่ได้ทำกิจกรรมยกของหนัก หรือหยุดใช้กล้ามเนื้อทำงานแล้ว ก็ยังปวดอยู่
ทั้งนี้ โรคออฟฟิศซินโดรมักมาควบคู่กับโรคอื่น ๆ ได้แก่ โรคตาแห้ง ซึ่งเกดจากการทำงานที่ต้องใช้สายตามองที่จอคอมพิวเตอร์เกือบตลอดเวลา ทำให้มีการกะพริบตาน้อยกว่า 20 ครั้งต่อนาที ซึ่งทำให้การหล่อเลี้ยงความชุ่มชื้นของนัยน์ตาลดน้อยลง จึงเกิดเป็นโรคตาแห้ง ซึ่งจะมีอาการคันตา ตาแดง แสบตาง่าย และหากขยี้ตาบ่อย ๆ โดยที่มือสกปรกก็จะเกิดการติดเชื้อหรือกระจกตาอักเสบได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
นอกจากนี้ ในผู้ที่ต้องนั่งทำงานบ่อย ๆ จะมีพฤติกรรมการกินอาหารหวาน-มัน และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและไขมันสูง เช่น ชานม กาแฟ 3 in1 มากกว่าปกติ ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน โรคหัวใจและเส้นเลือดตีบ โรคไขมันในเลือดสูง รวมถึงโรคทางอารมณ์ เช่นโรคเครียด ซึมเศร้า ได้มากกว่าคนทั่วไป ที่มีการขยับตัวเดินไปมา
การใส่ใจในการพักผ่อนอิริยาบถเป็นระยะ เช่น ทุก 30 นาทีจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคออฟฟิศซินโดรมได้มาก หากยังไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อการใช้ยาตามระดับความรุนแรงที่เหมาะสมต่อไป
ขอบคุณรูปภาพจาก : https://www.freepik.com/index.php?goto=74&idfoto=1366602