
ในช่วงที่เริ่มเข้าสู่โลกยุคดิจิตอลไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงในเรื่องของเทคโนโลยีเท่านั้น แต่การเกิดโรคต่างๆก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามความเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิต อย่างเช่น โรคไขมันพอกตับ ซึ่งในปัจจุบันนี้พบว่ามีผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังพบว่า 25 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป มีภาวะของโรคไขมันพอกตับเพิ่มสูงขึ้น
เรามาทำความรู้จักกับโรคนี้กันเลยค่ะว่าจริงๆแล้ว โรคไขมันพอกตับนี้มีอาการอย่างไร มีสาเหตุมาจากอะไร
โรคไขมันพอกตับ หรือ บางคนเรียกไขมันเกาะตับ และภาวะตับคั่งไขมัน ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็คือความหมายเดียวกันค่ะ ก็คือการที่มีไขมันไปพอกอยู่ในเซลล์ตับ โดยทั่วไปกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุดก็คือ
กลุ่มที่มีภาวะอ้วนลงพุงมีโรคร่วมเช่น โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงและเบาหวาน ซึ่งกลุ่มพวกนี้เราจะพบว่ามีไขมันพอกตับที่เยอะขึ้น โดยทั่วไปไขมันพอกตับมักจะไม่แสดงอาการ แต่อาจจะมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่นรู้สึกแน่นๆที่ชายโครงขวาเนื่องจากว่าตับโตขึ้นนั่นเองค่ะ แต่โดยทั่วไปมักไม่มีอาการในระยะที่เป็นไขมันพอกตับทั่วไป
ไขมันพอกตับจะมีอยู่ 3 ระยะ
- ระยะแรกคือไขมันพอกตับธรรมดา
- ระยะที่สองคือไขมันพอกตับและมีตับอักเสบร่วมด้วย
- ระยะที่สามคือเกิดการตับแข็ง
ดังนั้นในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันพอกตับและตับอักเสบร่วมด้วยนั้นกลุ่มนี้ควรติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง ถ้าหากปล่อยไว้นานระยะ 10-15 ปีขึ้นไปจะกลายเป็นระยะที่สามได้ คือมีอาการตับแข็ง และอาจเป็นมะเร็งตับอีกด้วย
อย่างที่หลายคนทราบกันค่ะว่าภาวะไขมันพอกตับนั้นมักจะไม่ได้เจอเดี่ยวๆ มักจะมีโรคอื่นร่วมด้วย เช่น เบาหวาน ไขมัน ความดันโลหิตสูง ดังนั้นต้องดูก่อนว่ามีโรคร่วมเหล่านี้หรือไม่ ถ้าหากพบว่ามีโรคร่วมเหล่านี้ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารบางชนิด อย่างเช่น โรคความดัน ก็ควรจะงดอาหารเค็ม หรือ ลดความเค็มลงครึ่งหนึ่ง หากมีภาวะโรคเบาหวานด้วย ควรลดแป้ง คาร์โบไฮเดรต ลดของมันๆทอดๆ กลุ่ม หนังหมู หนังไก่ หรือ ไข่แดง เพราะอาหารในกลุ่มนี้จะทำให้มีไขมันสูง มีคอเลสเตอรอลสูง เพราะฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงจะดีที่สุดค่ะ
และหากทราบว่ามีภาวะไขมันพอกตับควรระมัดระวังและปฏิบัติตนอย่างไรบ้าง มาติดตามกันค่ะ
1 . ควรลดน้ำหนัก 5-10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว เช่น หากมีน้ำหนัก 100 กิโลกรัม ควรลดลงสัก 10 กิโลกรัม แต่ควรลดให้ถูกวิธีคือค่อยๆปรับพฤติกรรมการบริโภค อาจต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือนขึ้นไป ค่อยๆลดทีละครึ่งกิโล หรือ 1 กิโลนะคะ
2 . ควรออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายจะช่วยทำให้ภาวการณ์อักเสบของตับลดลง และช่วยให้ไขมันพอกตับลดลงอีกด้วย การออกกำลังกายที่เหมาะสมคือ การวิ่ง ปั่นจักรยาน หรือ จ็อกกิ้ง ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ 3-4 วันต่อสัปดาห์
นอกจากการออกกำลังกายแล้วยังควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภค โดยลดเค็มจัด หวานจัด ไขมัน และกลุ่อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง และที่สำคัญอย่าลืมพักผ่อนให้เพียงพอด้วยนะคะ