โรคลิ้นหัวใจ เป็นโรคร้ายที่มักไม่มีอาการแสดงในช่วงแรก จะเริ่มสังเกตชัดที่อายุ 40 ปี โดยมักสังเกตได้จากผู้ป่วยจะรู้สึกเหนื่อยง่าย เจ็บแน่นอก ความสามารถในการทำงานหรือกิจวัตรลดลง เพราะลิ้นหัวใจที่ทำหน้าที่แยกเลือดดีและเลือดเสียในช่องหัวใจ-เส้นเลือด-ปอด ไม่สามารถเปิดปิดได้สนิทหรือเกิดการรั่วซึม ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้นในการให้ได้ออกซิเจนเลี้ยงร่างกาย จึงตามมาด้วยอาการกล้ามเนื้อหัวใจโตและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ซึ่งทางการแพทย์พบว่า โรคลิ้นหัวใจชนิดลิ้นหัวใจรั่วเป็นแบบที่พบบ่อย ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน นอกจากจะทำให้มีอาการหายใจตื้น เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบแล้ว ก็สามารถสังเกตได้จากมือเท้าบวม แขนขาชา ตาตุ่มบวม ตับโต เส้นเลือดดำที่คอโป่งบีบตัวมากกว่าปกติด้วย
โรคลิ้นหัวใจพบมากในคนที่เป็นโรคกลุ่มNCDs ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันสูง หรือเคยติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus ในลำคอ แล้วไม่ได้รักษาด้วยยาฆ่าเชื้อจนหายสนิท รวมถึงเกิดการติดเชื้อซ้ำ ๆ ทำให้เกิดการติดเชื้อลามมาที่เยื่อบุในหัวใจหรือที่ลิ้นหัวใจ นอกจากนี้ การใช้ยาลดน้ำหนัก ยาลดความอยากอาหาร หรือยารักษาไมเกรนบางชนิด ทำให้เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคลิ้นหัวใจได้ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ หากพบความผิดปกติดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะทำการสอบประวัติและตรวจอย่างละเอียด เพื่อประเมินภาวะความรุนแรงของโรคลิ้นหัวใจและเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมต่อไป เช่น
– เปลี่ยนลิ้นหัวใจ กรณีที่ลิ้นหัวใจไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ
– การใช้ยาบรรเทาอาการบวมและอาการแทรกซ้อน เช่น ยาขับปัสสาวะ , ยาลดความดันโลหิตสูง , ยาลดไขมันในเลือด
– การซ่อมลิ้นหัวใจ ลอกหินปูนที่เกาะอยู่ออก
– ใช้บอลลูน (Ballon) ถ่างขยายลิ้นหัวใจ
ทั้งนี้ การรักษาด้วยการผ่าตัด ใส่ลิ้นหัวใจเทียมชนิดไทเทเนียม จำเป็นต้องกินยาละลายลิ่มเลือดไปตลอดชีวิต ป้องกันลิ่มเลือดไปอุดตามเส้นเลือดต่าง ๆ ซึ่งพบบ่อยกับเส้นเลือดที่ปอดและสมอง ทำให้เสียชีวิตหรือเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้
การดูแลสุขภาพสำหรับผู้เป็นโรคลิ้นหัวใจ ต้องระวังขนมกรุบกรอบ อาหารเค็ม เพราะทำให้เกิดการบวมน้ำ เพิ่มความดันและทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น นอกจากนี้ยังต้องหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อลดความเสี่ยงโรคความดันสูง เบาหวาน และไขมันสูง
ทั้งนี้การดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอด้วยการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ตามหลักโภชนาการและออกกำลังกายสม่ำเสมอตั้งแต่วัยหนุ่มสาว จะช่วยให้สามารถลดความเสี่ยงโรคลิ้นหัวใจ หากสังเกตพบความผิดปกติใด ๆ ต่อร่างกาย ควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อการตรวจรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
ขอบคุณภาพหน้าปกจาก : https://www.freepik.com/index.php?goto=74&idfoto=3152755