“โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน” หลายท่านจะจะนึกภาพไม่ออก และดูแปลกๆ แต่ทราบมั้ยคะว่าในปัจจุบันมีคนเป็นโรคนี้กันไม่น้อยเลยทีเดียว อาการที่มักพบบ่อยคือ บ้านหมุน เวียนหัว มึนงง ไม่สดชื่น มีเสียงในหู ซึ่งโรคนี้เมื่อเป็นแล้วมีผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน และการทำงานพอสมควร ทางเราจึงค้นข้อมูลของโรคและการรักษามาฝากค่ะ
Contents
น้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s Disease)
จากการศึกษาข้อมูลด้านระบาดวิทยาพบผู้ป่วยโรคน้ำคั่งในหูชั้นในประมาณ 34-190 คน ในประชากร 100,000 คน พบในช่วงอายุ 30-70 ปี เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชายเล็กน้อย ผู้ป่วยจะมีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน เป็นๆ หายๆ ร่วมกับการได้ยินลดลงอาจจะเกิดพยาธิสภาพขึ้นทีละข้าง หรืออาจพร้อมกันก็ได้ ในส่วนสาเหตุนั้น เกิดจากพยาธิสภาพในหูชั้นใน คือมีการสร้าง และสะสมน้ำในหู (endolymph) ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง
การศึกษาในอดีตใช้วิธีตรวจพิสูจน์จากการตัดชิ้นเนื้อของผู้ป่วยที่เสียชีวิตและมีประวัติร่วมกับอาการแสดงของโรคน้ำคั่งในหูชั้นใน
ในปัจจุบันมีการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธี (electrocochleography) ช่วยในการวินิจฉัยภาวะน้ำคั่งในหูชั้นใน (endolymphatichydrops) ได้โดยไม่ต้องทำการผ่าตัดชิ้นเนื้อ ในปี ค.ศ.2015 สมาคมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติได้กำหนดเกณฑ์การวินิจฉัยโรคน้ำคั่งในหูชั้นในดังนี้
Definite MD (วินิจฉัยโรคน้ำคั่งในหู)
- ผู้ป่วยจะมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน ที่เกิดขึ้นเองตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไปและแต่ละครั้งกินเวลา 20 นาที ถึง 12 ชั่วโมง
- ตรวจพบการสูญเสียการได้ยินระดับหูชั้นใน ที่ความถี่ต่ำ ถึงปานกลางในหูข้างเดียวหรือหูข้างที่สูญเสียการได้ยินก่อนเกิด ขณะเกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน หรือภายหลังจากเกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน
- มีอาการอื่นๆ เช่น เสียงดังรบกวนในหู หรือปวดหู ข้างเดียวกับที่สูญเสียการได้ยิน
- อาการไม่ดีขึ้น ภายหลังจากได้รับการรักษาโรคที่เกิดจากสาเหตุอื่น
Probable MD (น่าจะเป็นโรคน้ำคั่งในหู)
- ผู้ป่วยจะมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน หรือ มึนงงที่เกิดขึ้นเองตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไปแต่ละครั้งกินเวลา 20นาทีถึง 24 ชั่วโมง
- มีอาการอื่นๆ เช่น เสียงดังรบกวนในหูหรือปวดหูข้างเดียวกับที่สูญเสียการได้ยิน
- อาการไม่ดีขึ้น ภายหลังจากได้รับการรักษาโรคที่เกิดจากสาเหตุอื่น
- เป็นที่สังเกตว่าผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์วินิจฉัยโรคน้ำคั่งในหูแตกต่างจากผู้ป่วยที่น่าจะเป็นโรคน้ำคั่งในหูตรงที่ไม่มีการสูญเสียการได้ยินหรือผลตรวจการได้ยินปกติ
การรักษา
มุ่งหวังให้ผู้ป่วยบรรเทาอาการเวียนศีรษะ ลดเสียงดังรบกวนและแก้ปัญหาการได้ยินเสียง เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยแล้วจะได้รับคำแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ได้แก่
การงดรับประทานอาหารเค็ม ซึ่งจำกัดปริมาณเกลือต่อหนึ่งวัน ไม่เกิน 2 gm, หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มหรืออาหารที่มี คาเฟอีน แอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่ ร่วมกับการใช้ยารักษาได้แก่ Betahistine,Diuretic(ยาขับปัสสาวะ)และรักษาตามอาการแบบประคับประคองเป็นเวลา 3 ถึง 6 เดือน แล้วประเมินการรักษา
ในกรณีผู้ป่วยยังมีอาการอยู่ อาจจะพิจารณาใช้อุปกรณ์เพิ่มแรงดัน เช่น Meniett device ถ้าอาการรุนแรงมากจนไม่สามารถควบคุมอาการเวียนศีรษะได้หรือผู้ป่วยสูญเสียการได้ยินมากขึ้น อาจจะพิจารณาผ่าตัด
สำหรับโรคทาง หู คอ จมูก ที่ไม่สามารถเดินทางโดยสารเครื่องบินได้ มีดังนี้ค่ะ
- หูชั้นกลางอักเสบ หรือ โพรงไซนัสอักเสบเฉียบพลัน
- ผู้ป่วยหลังผ่าตัดหูชั้นกลาง
- ผู้ป่วยหลังการผ่าตัดต่อมทอนภายใน 10 วัน
- ผู้ป่วยที่ผ่าตัดใส่เหล็กดัดฟันเพื่อยืดกระดูกขากรรไกร
หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะมีประโยชน์ต่อทุกคนนะคะ ลองเช็คดูว่าคุณหรือคนรอบข้างใครที่มีอาการเข้าข่ายที่จะเป็นโรคนี้ควรรีบพบแพทย์เป็นการดีที่สุดค่ะ
ข้อมูลอ้างอิงจากเอกสารทางการแพทย์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า