สำหรับผู้หญิงแล้ว การเป็นโรคที่ทำให้ประจำเดือนขาดหายไป (โดยตัดสาเหตุจากการตั้งครรภ์ออก) เป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนล้วนเป็นกังวลอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ ในทางการแพทย์แล้วแบ่งชนิดของภาวะประจำเดือนขาดเป็น 2 กรณี คือ
- ไม่มีประจำเดือนตั้งแต่ต้น ทั้งที่ถึงวัยควรมี เช่น เด็กหญิงอายุ 15 ปี ที่เริ่มมีหน้าอก สะโพกขยาย และมีขนที่อวัยวะเพศแล้ว แต่ยังไม่มีประจำเดือน หรือ เด็กที่อายุประมาณ 13 ปีที่ไม่มีวี่แววการเปลี่ยนแปลงทางสรีระเข้าสู่วัยสาว เป็นต้น กรณีนี้ควรพาเด็กไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทางที่โรงพยาบาลเพื่อการตรวจรักษาโดยละเอียด
- กรณีที่เคยมีประจำเดือนสม่ำเสมอมาตลอดแต่ปัจจุบันหายไป นานเกิน 6 เดือน หรือ คนที่ประจำเดือนมาทุก 2 – 3 เดือน ก็ไม่มา 3 รอบแล้ว เป็นต้น
กรณีนี้ มีการวิจัยพบว่าเกิดจากสาเหตุหลายอย่าง นอกจากการตั้งครรภ์ ได้แก่
– เป็นโรคชีแฮน (Sheehan) หลังคลอดบุตร ซึ่งเกิดจากต่อมใต้สมองไม่สร้างฮอร์โมนไปกระตุ้นรังไข่ตามปกติ
– เป็นโรคคุชชิง (Cushing) ซึ่งเกิดจากมีก้อนเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง ทำให้เกิดการสร้างฮอร์โมนกลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ผิดปกติไป
– เป็นโรค PCOS หรือ การมีถุงน้ำรังไข่หลายใบ สังเกตได้จากมักมีขนดก ผิวมันเป็นสิวร่วมด้วย
– ต่อมใต้สมองทำงานผิดปกติ ทำให้ร่างกายสร้างน้ำนม ทั้งที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ จึงทำให้ฮอร์โมนผันผวน ประจำเดือนจึงไม่มาด้วย
– เป็นโรคเครียด หรืออยู่ในช่วงเครียดจัดจากการทำงานหรือเรื่องรบกวนใจ ทำให้การหลั่งฮอร์โมนแปรปรวน ประจำเดือนจึงไม่มา
– เป็นโรคอ้วน ที่ทำให้ร่างกายมีเปอร์เซ็นต์ไขมันสูงกว่าปกติ ทำให้ส่งผลต่อการสร้างฮอร์โมนร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป
– การขาดสารอาหาร หรือเป็นโรคกลัวความอ้วนขั้นขีดสุด หรือ Anorexia nervosa ทำให้ร่างกายขาดแร่ธาตุสารอาหารที่จำเป็นในการสร้างฮอร์โมนต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นในระบบสืบพันธุ์ รวมถึงการมีประจำเดือนด้วย
– การออกกำลังกายอย่างหนัก ทำให้ร่างกายเกิดการสร้างฮอร์โมนเพศกลุ่มแอนโดรเจนมากขึ้น ทำให้มีลักษณะของความเป็นเพศชายในกลุ่มนักกีฬาหญิง และทำให้ประจำเดือนขาดหาย
– การคุมกำเนิดด้วยการฉีดยาหรือกินยาเม็ดติดต่อยาวนาน จะทำให้ประจำเดือนน้อยลงหรือขาดหายได้
จะเห็นได้ว่า อาการประจำเดือนขาด เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งเป็นได้ทั้งกับเด็กหญิงที่กำลังเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์และผู้หญิงวัย 20 – 40 ปี ที่มีไลฟ์สไตล์หลากหลาย พฤติกรรมการรับประทานอาหาร นิสัยการออกกำลังกาย และการต้องเผชิญความเครียดในรูปแบบต่าง ๆ ล้วนส่งผลต่อภาวะฮอร์โมนที่ควบคุมการมีประจำเดือนของร่างกายได้ทั้งสิ้น
ดังนั้น หากพบว่าปริมาณเลือดประจำเดือนลดลง หรือขาดหายไปนานผิดสังเกต ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง ไม่ควรหาซื้อยาขับเลือดหรือยาบำรุงมารับประทานเอง เพราะอาจไม่ถูกกับโรค และทำให้เสียโอกาสในการรักษาได้
ขอบคุณภาพหน้าปกจาก : https://www.freepik.com/index.php?goto=74&idfoto=1097953