อาการปวดท้องรอบเดือน หรือ ปวดประจำเดือน เป็นความทรมานที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในทุก ๆ เดือน ทั้งก่อนและหลังการมีประจำเดือน 2 – 3 วัน ซึ่งจะมีความรุนแรงมากน้อยต่างกัน
ซึ่งสำหรับผู้หญิงที่ปวดท้องประจำเดือนมาก ๆ อาจไม่ได้สร้างแค่ความหงุดหงิดใจหรือความทุกข์ทางกายแต่ภายนอกเท่านั้น ยังอาจแฝงโรคภายใน เช่น มะเร็ง ไว้ก็เป็นได้ หากไม่แน่ใจในสาเหตุของอาการปวดท้อง แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจให้ละเอียดจะดีที่สุด
ทั้งนี้ ทางการแพทย์ได้ศึกษาพบว่าการปวดท้องประจำเดือน เกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
- เป็นอาการ PMS หรือ Premenstrual syndrome ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในร่างกาย ในช่วงก่อนมีประจำเดือน 7 ถึง 14 วัน
- เกิดการอักเสบภายในอุ้งเชิงกราน ซึ่งจำเป็นต้องรีบรักษาเพื่อป้องกันการลุกลามจนทำให้มีลูกยาก
- การมีเนื้องอกภายในมดลูก เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มดลูกบีบตัวมากขึ้นทำให้ปวดท้องประจำเดือนได้
- มีภาวะ Endometriosis ที่รังไข่หรืออุ้งเชิงกราน ซึ่งเรียกรวม ๆ ว่าเป็นการเจริญผิดที่ของเยื่อบุมดลูก
- ปากมดลูกแคบกว่าปกติ ทำให้เลือดประจำเดือนไหลออกได้ทีละน้อย จึงเกิดแรงกดภายในอุ้งเชิงกราน ทำให้รู้สึกปวดท้องได้
- คุมกำเนิดด้วยวิธีใส่ห่วง
นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้หญิงที่เป็นโรคอ้วน สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ มีเปอร์เซ็นต์การปวดท้องประจำเดือนสูงกว่าคนทั่วไปด้วย
ในเบื้องต้น หากไม่เคยมีประวัติแพ้ยา เราสามารถปรึกษาแพทย์และเภสัชกร เพื่อใช้ยาบรรเทาอาการปวดได้ เช่น
- ใช้ยาแก้ปวดพาราเซตามอล เพื่อลดการปวดทั่วไปแบบน้อย-ปานกลางคู่กับการใช้ถุงน้ำร้อนประคบท้องน้อยเป็นระยะ ๆ เพื่อลดการบีบตัวของมดลูก
- ใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ซึ่งเหมาะสำหรับอาการปวดท้องประจำเดือนแบบปานกลาง-รุนแรง ได้แก่ ตัวยาไอบูโพรเฟ่น (Ibuprofen) หรือยาพอนสแตน (Ponstan)
แต่หากได้รับการตรวจหาสาเหตุที่ชัดเจน จะสามารถรักษาได้ตรงจุดยิ่งกว่า ซึ่งแพทย์จะใช้ยาที่ตรงกับโรคได้ดียิ่งขึ้น และป้องกันอาการลุมลามบานปลายในอนาคต ได้แก่
- หากเกิดจากการตกไข่ผิดปกติ แพทย์จะให้ทานยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ทำให้ลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้
- ให้ยาฮอร์โมนเพื่อทำให้ผนังมดลูกฝ่อลง เช่น ยาProvera และ Primolut-N
- ใช้ยาที่ช่วยให้เยื่อบุโพรงมดลูกฝ่อ เช่น ยาดานาซอล (Danazol)
- ใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หากเกิดจากอุ้งเชิงกรานติดเชื้อ
- ผ่าตัดรักษาเนื้องอกหรือเอาเยื่อบุโพรงมดลูกส่วนที่ผิดปกติออก
นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ทานอาหารเสริมจำพวกวิตามิน E และโอเมก้าสามจากน้ำมันปลา รวมทั้งดื่มน้ำเต้าหู้ เพื่อเสริมสร้างฮอร์โมนที่ช่วยปรับสมดุลภายในและลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้ดีขึ้น
ขอบคุณภาพประกอบจาก : https://www.freepik.com/index.php?goto=74&idfoto=2767707