พฤติกรรมการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้การทำงานไม่มีข้อจำกัดทางเวลา ความตึงเครียด และปัญหาสุขภาพจิตมากมายล้วนทำให้ ‘ไมเกรน’ กลายเป็นโรคยอดนิยมของคนไทยในยุคสมัยนี้
แอดมินเชื่อว่าหลายคนยังไม่รู้ว่าไมเกรนคืออะไร เกิดจากอะไร และควรรักษาได้อย่างไรบ้าง บทความนี้แอดมินมีคำตอบมาฝากมาดูกันเลยดีกว่า
Contents
ไมเกรน คืออะไร
อาการปวดหัวไมเกรน คือ อาการปวดหัวอย่างรุนแรง ที่มักจะเกิดขึ้นพร้อมอาการคลื่นไส้อาเจียน และไวต่อแสงร่วมด้วย โดยอาจแสดงอาการได้ตั้งแต่ 4 – 72 ชั่วโมง สำหรับบางครั้งอาจยาวนานกว่านั้น
อาการปวดหัวชนิดนี้สามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งเพศชายและหญิง โดยช่วงอายุที่พบบ่อยครั้งจะอยู่ระหว่าง 10 – 40 ปี
ประเภทและระดับของไมเกรน
อาการไมเกรนที่พบบ่อยที่สุดมี 2 ประเภท ได้แก่ แบบมีอาการนำ (Classic Migraine) และ ไม่มีอาการนำ (Common Migraine)
ประภทของไมเกรนสามารถแบ่งได้ตามระดับของอาการไมเกรน 4 ระดับ ดังนี้
1.ระดับเริ่มแรก (Prodromal phase)
ผู้ป่วยอาจพบว่ามีอาการที่เป็นสัญญาณเตือนของโรคไมเกรน เช่น รู้สึกเซื่องซึม กระหายน้ำ ไม่อยากอาหาร หงุดหงิดฉุนเฉียว ง่วงนอน หรือปัสสาวะบ่อย ซึ่งอาการต่าง ๆ เหล่านี้เป็นหนึ่งในสัญญาณที่แพทย์ใช้วินิจฉัยว่าเป็นอาการปวดหัวที่เกิดขึ้นมาจากโรคไมเกรนหรือไม่
2.ระดับเริ่มแสดงอาการเป็นสัญญาณเตือน (Aura phase)
ระยะนี้ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกมีอาการผิดปกติในการมองเห็น เช่น การมองเห็นแสงแวบ ๆ ไหว ๆ ประมาณ 3 – 4 นาที หรืออาจเกิดจุดบอดในจอตาที่ทำให้ไม่สามารถเพ่งโฟกัสกับวัตถุขนาดเล็กได้ มีอาการเหน็บชาบนผิวหนัง และปัญหาในการสื่อสารผ่านการพูดและเขียน รวมทั้งมึนงงสับสน หากเป็นเช่นนั้น ก็อาจคาดการณ์ได้ว่าอาการปวดหัวไมเกรน กำลังจะตามมาในอีกไม่ช้า
3.ระดับอาการปวดหัวไมเกรน (Attack phrase)
ผู้ป่วยจะเริ่มเข้าสู่ระยะของอากา “ปวดหัวไมเกรน” โดยเริ่มจากการปวดหน่วง ๆ บริเวณเหนือดวงตา แล้วค่อย ๆ ลุกลามไปยังบริเวณศีรษะข้างใดข้างหนึ่ง จากนั้นอาจเคลื่อนที่ไปสู่ศีรษะอีกด้านหนึ่งหรือลงมาบริเวณกรามหรือใบหน้าส่วนล่างได้เช่นกัน
นอกจากอาการปวดศีรษะแล้ว ในระยะนี้ ผู้ป่วยอาจรู้สึกไวต่อแสง เสียง และกลิ่น ตลอดจนมีอาการอ่อนเพลียและคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
4.ระดับอาการหลังปวดหัวไมเกรน (Postdromal phase)
หลังจากเผชิญหน้ากับระยะ ปวดหัวไมเกรน แล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนเพลียอย่างมาก มึนงงสับสน เซื่องซึม และปวดศีรษะเวลาเคลื่อนที่หรือขยับตัวอย่างรวดเร็ว
โดยอาการต่าง ๆ เหล่านี้อาจเกิดขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงหรือหลายวันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสภาพร่างกายของผู้ป่วย
แม้ว่าโรคไมเกรนจะสามารถแบ่งเป็น 4 ระยะข้างต้น แต่บางครั้งอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละคนอาจจะเกิดขึ้นแตกต่างกัน
โดยผู้ป่วยอาจจะรู้สึกถึงอาการที่เป็นสัญญาณเตือนของไมเกรน (aura phrase) แต่อาจไม่มีอาการปวดหัวไมเกรน (attack phrase) ตามมาก็ได้
ทั้งนี้ อันตรายของไมเกรน ขึ้นอยู่กับโรคแทรกซ้อนและประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
เพราะอาการปวดหัวดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการชักเกร็งหรือเป็นลมร่วมด้วย
และสำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอย่างความดันโลหิตสูงหรือเบาหวานอาจนำไปสู่ อาการเส้นเลือดในสมองแตกเฉียบพลัน จึงต้องรีบเข้ารับการรักษาจากแพทย์โดยเร็วที่สุด
สาเหตุของไมเกรน

ไมเกรน เกิดจากหลากหลายสาเหตุด้วยกัน โดยงานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่ากรรมพันธุ์เป็นหนึ่งใน สาเหตุของไมเกรน โดยเฉพาะความผิดปกติของการไหลเวียนโลหิตบริเวณสมอง ซึ่งเกิดจากระบบไฟฟ้าภายในสมองที่ทำงานผิดปกติ และกระตุ้นเส้นประสาทสมองส่วน Trigeminal ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อความรู้สึกบริเวณใบหน้าและศีรษะ ตลอดจนก่อให้เกิดการหลั่งสารเคมีในสมองชนิด Serotonin และ Calcitonin Gene-related peptide (CGRP) ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้หลอดเลือดสมองขยายตัว และปล่อยสารสื่อประสาทชนิดกระตุ้น (Neurotransmitter) ที่ก่อให้เกิดอาการอักเสบและความเจ็บปวดภายในสมองเป็นที่มาของอาการปวดหัวไมเกรนในที่สุด
ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดไมเกรน
1.การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในเพศหญิง
ความปั่นป่วนของ ฮอร์โมนเอสโตรเจน ภายในร่างกายสตรีช่วงก่อนหรือระหว่างมีประจำเดือน ระหว่างการตั้งครรภ์ หรือในช่วงที่กำลังเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือน (Menopause) เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรนในผู้หญิงได้
2.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ไม่ว่าจะเป็นสุรา ไวน์ เบียร์ หรือเครื่องดื่มคาเฟอีนอย่างชาและกาแฟ หากดื่มในปริมาณที่มากเกินไปก็มีส่วนกระตุ้นอาการปวดหัวไมเกรนได้เช่นเดียวกัน
3.ความเครียด
ภาวะความตึงเครียดสะสมจากงาน ปัญหาชีวิต ส่งผลโดยตรงต่อสภาพร่างกายที่มิได้จำกัดอยู่เพียงแค่ไมเกรนเท่านั้น หากยังส่งผลกระทบให้เกิดโรคอื่น ๆ อีกด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันอุดตันในเส้นเลือด และโรคซึมเศร้า

4.การกระตุ้นทางสัมผัส
หากผู้ป่วยสัมผัสแสงสว่างจ้า เสียงที่ดังมากเกินไป หรือกลิ่นที่แรงจัดก็เป็นสิ่งกระตุ้นหนึ่งที่ก่อให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรนได้ เพราะฉะนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมเสี่ยงเหล่านั้น
5.นอนพักผ่อนไม่เพียง
การนอนหลับไม่เพียงพอ ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่กระตุ้นให้อาการปวดหัวไมเกรน ให้เกิดการกำเริบขึ้นมาได้
6.ปัจจัยทางกายภาพ
การใช้ร่างกายอย่างหนักเกินไป อาทิ การออกกำลังกายอย่างหักโหม หรือการทำงานติดต่อกันเป็นเวลาหลายชั่วโมงอาจทำให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรนอย่างเฉียบพลันได้เช่นกัน
7.สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง
การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของสภาพอากาศและอุณหภูมิ เช่น จากแดดร้อนมาเป็นฝนตกอย่างหนักก็เป็นหนึ่งสาเหตุของอาการปวดหัวไมเกรน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้
8.การใช้ยา

ยาบางชนิด อาทิ ยาคุมกำเนิด (Contraceptives) และยาขยายหลอดเลือด (Vasodilators) อย่าง Nitroglycerin สามารถกระตุ้นอาการปวดหัวไมเกรนได้
9.อาหาร
อาหารรสจัดและอาหารแปรรูปบางชนิดอาจก่อให้เกิดไมเกรนได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการแพ้อาหารร่วมด้วย
10.สารเคมีในอาหาร
สารบางชนิดที่มีการใส่ลงไปในอาหาร เช่น สารเพิ่มความหวาน หรือ ผงชูรส เป็นหนึ่งในปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรนได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ใส่สารเหล่านี้
ลักษณะอาการของไมเกรนเป็นอย่างไร ?
การปวดหัวสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายปัจจัย และไม่ได้หมายถึงการปวดหัวไมเกรนเสมอไป
เพื่อให้สามารถแยกอาการปวดหัวทั่วไปออกจากอาการของโรคไมเกรนได้
คุณผู้อ่านจึงต้องเข้าใจก่อนว่าอาการไมเกรนเป็นอย่างไร และไมเกรนปวดข้างไหน
โดยอาการทั่วไปจะมีลักษณะของการปวดศีรษะข้างใดข้างหนึ่ง หรือปวดดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง ปวดเหมือนเส้นเลือดเต้นตุบ ๆ อยู่ภายในศีรษะ
นอกจากนั้น ยังอาจมีอาการไมเกรนอื่น ๆ ร่วมด้วย อาทิ ไวต่อแสง กลิ่น และเสียง คลื่นไส้อาเจียน ซีดเผือด อ่อนเพลีย ระยะเวลาของอาการปวดหัวไมเกรนอาจกินเวลาตั้งแต่ 4 – 72 ชั่วโมงอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น
โดยความถี่ของอาการอาจแตกต่างไปตามสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคน แต่การปวดหัวไมเกรนประมาณ 3 – 4 ครั้ง/เดือน นับว่าเป็นเรื่องปกติ
แต่ในบางรายก็อาจพบได้ทุกวันหรือวันเว้นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ ปัจจัยกระตุ้นอาการไมเกรน อาทิเช่น ความเครียด โรคประจำตัว หรืออาหารการกิน
วิธีรักษาไมเกรน รักษาไมเกรนควรทำอย่างไร
วิธีรักษาอาการปวดหัวไมเกรนในปัจจุบัน ทางวงการแพทย์ก็มีแนวทางและวิธีรับมือรักษาตามแนวทางต่างๆ ดังต่อไปนี้
แนวทางการรักษาโรคไมเกรน ทุกวันนี้แพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนโบราณ ล้วนต่างก็พยายามคิดค้น และพัฒนาวิธีรักษาไมเกรนออกมาวิธีด้วยกัน
ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาสมัยใหม่ ยาสมุนไพร การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และการใช้วิตามินและอาหารเสริมเพื่อบรรเทาอาการปวด
ประเภทของการรักษาและการรับมือ
การรักษาไมเกรนสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
การบรรเทาความรุนแรงของอาการ หรือการรักษาเบื้องต้น และ การป้องกันการเกิดไมเกรนในอนาคต หรือการบำบัดไมเกรนในระยะยาว
โดยทั้ง 2 แนวทางนี้ จำเป็นต้องดำเนินไปควบคู่กันเพื่อให้การรักษาอาการปวดในผู้ป่วยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
1.การรักษาเบื้องต้น
การรักษาไมเกรนเบื้องต้น เป็นการรักษาอย่างฉับพลันเพื่อบรรเทาความรุนแรงของอาการปวดหัวไมเกรนด้วยการใช้ยาแก้ปวด วิธีนี้มุ่งหมายในการระงับและบรรเทาอาการชั่วคราว แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
2.การบำบัดโรคไมเกรนในระยะยาว
การบำบัดไมเกรนในระยะยาว เป็นการป้องกันสาเหตุและปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาในระยะยาว การลดปัจจัยเสี่ยง ตลอดจนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดอาการ
ยารักษาโรคไมเกรน

ยาไมเกรน ที่ดีที่สุดคือ ยาที่มีความปลอดภัยและไม่ส่งผลข้างเคียงต่อผู้ป่วย
โดยสามารถแบ่งประเภทของยาแก้ปวดไมเกรนได้ตามประเภทการรักษา ดังนี้
1.ยารักษาไมเกรนเบื้องต้น
– ยาแก้ปวด (Pain relievers) : ใช้ระงับความเจ็บปวดของโรคไมเกรน อาทิ แอสไพรินและไอบูโพรเฟน ซึ่งยาเหล่านี้หากใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการปวดหัวจากการใช้ยาเกินขนาด และเกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารได้
– ทริปแทน (Tripstan) : เป็นกลุ่มยาแก้ปวด อาทิ ซูมาทริปแทน (Sumatriptan) และ ริซาทริปแทน (Rizatriptan) ที่ใช้ระงับ และบรรเทาอาการเจ็บปวดภายในสมอง จึงสามารถใช้กับผู้ป่วยโรคไมเกรนเพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะ และอาการข้างเคียงอื่น ๆ อย่างอาการไวต่อแสง เสียง กลิ่น และคลื่นไส้อาเจียนได้
– ดีไฮโดรเออร์โกตามีน (Dihydroergotamines) : เป็นยาสำหรับฉีดโพรงจมูก หรือฉีดเข้าเส้นเลือดเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดของไมเกรน แต่อาจมีผลข้างเคียงทำให้อาการของผู้ป่วยที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วยแย่ลง
นอกจากนั้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ภาวะอุดตันของเส้นเลือด โรคตับหรือไต ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาดีไฮโดรเออร์โกตามีนโดยเด็ดขาด
– ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน : ผู้ป่วยโรคไมเกรนที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วยอาจใช้ยาชนิด Chlorpromazine, Metoclopramide (Reglan) และ Prochlorperazine (Compro) ร่วมกับยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาความรุนแรงของโรคไมเกรน
2.ยารักษาโรคไมเกรนระยะยาว:
– ยาลดความดันโลหิต : ยาประเภทเบต้าบล็อกเกอร์ เช่น โพรพราโนลอล (Propranolol) และเมโตโพรลอล ตราเตรท (Metoprolol Tartrate) ช่วยลดความดันโลหิต คลายกังวล ป้องกันอาการเจ็บหน้าอกและปวดหัวไมเกรน
– ยารักษาโรคซึมเศร้า (Antidepressants) : ยากลุ่มไตรไซคลิก อาทิ อะมิทริปไทลีน ซึ่งมักใช้สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า สามารถใช้บรรเทาอาการปวดหัวไมเกรนได้ แต่มีผลข้างเคียงทำให้น้ำหนักขึ้นหรือง่วงซึม
– ยากันชัก (Anti-seizure drugs) : ยาประเภท Valproate หรือ Toprimate อาจช่วยลดความถี่ของการเกิดอาการไมเกรน แต่ก็มีผลข้างเคียงตามมา อาทิ อาการมึนหัว คลื่นไส้ และน้ำหนักขึ้น
– Calcitonin gene-related peptide (CGRP) : เป็นวิธีรักษาไมเกรนรูปแบบใหม่ด้วยการฉีดยาที่ช่วยขัดขวางและลดปริมาณของ CGRP ซึ่งเป็น Neuropeptide ที่ก่อการอักเสบและกระตุ้นความเจ็บปวดภายในสมอง โดยผลวิจัยพบว่าการลดปริมาณ CGRP จะช่วยป้องกันและการรักษาอาการปวดหัวไมเกรนได้ดียิ่งขึ้น
สมุนไพรรักษาโรคไมเกรน

นอกเหนือจากการรักษาโรคไมเกรนด้วยการแพทย์สมัยใหม่แล้ว หลายคนเลือกที่จะใช้แพทย์ทางเลือกหรือแพทย์แผนโบราณที่ใกล้ชิดธรรมชาติอย่างเช่น การใช้สมุนไพรชนิดต่าง ๆ รักษาไมเกรน โดยเฉพาะ ขิงและใบบัวบก ที่มีสรรพคุณลดความเจ็บปวดของอาการปวดหัวไมเกรนได้อย่างชะงัด
รวมไปถึงยังสามารถลดอาการคลื่นไส้อาเจียน เวียนหัวได้เป็นอย่างดี โดยการใช้ขิงและใบบัวบกในการรักษาไมเกรนนั้น ผู้ป่วยสามารถรับประทานได้สด ๆ หรือผสมน้ำต้มสุกแล้วดื่มเพื่อบรรเทาอาการปวดในเวลาเช้าและเย็น ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ตามลำดับ
อาหารและเครื่องดื่มที่ช่วยบรรเทา รักษาไมเกรน
สิ่งที่ผู้ป่วยหลายคนสงสัยคือ เมื่อปวดหัวไมเกรนกินอะไรหาย นอกจากยาต่าง ๆ แล้ว อาหารและเครื่องดื่มบางประเภทก็มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดหัวไมเกรนได้เช่นเดียวกัน
โดยเฉพาะอาหารแก้ไมเกรนที่มีแมกนีเซียมและวิตามินโอเมก้า 3 สูงอย่างปลาแซลมอน ปลาทู ปลาซาร์ดีน โยเกิร์ต เมล็ดฟักทอง หรืออะโวคาโด รวมไปถึงผลไม้ชนิดต่าง ๆ ที่มีวิตามินบีและซีสูง
และที่สำคัญที่สุดคือ การดื่มน้ำให้มาก เพราะน้ำสะอาดเป็นเครื่องดื่มแก้ไมเกรนที่ดีที่สุด เนื่องจากจะช่วยสร้างออกซิเจนในสมองที่ช่วยบรรเทาอาการปวดหัวไมเกรนได้เป็นอย่างดี

วิตามินและอาหารเสริมรักษาไมเกรน
ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่ม ที่มีส่วนประกอบของแมกนีเซียมและวิตามินที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรคได้ การรับประทานวิตามินหรืออาหารเสริมเพิ่มเติมก็อาจช่วยทดแทนได้เช่นกัน
โดยผู้ป่วยควรเลือกอาหารเสริมที่มีวิตามิน บี แคลเซียม โอเมก้า 3 และแมกนีเซียม ซึ่งช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดจากไมเกรน และป้องกันความถี่ในการเกิดอาการปวดหัวดังกล่าวได้ในอนาคต
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อรักษาโรคไมเกรนในระยะยาว
แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีรักษาไมเกรนให้หายขาดได้อย่าง 100% แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตก็เป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การกำเริบของอาการปวดหัวไมเกรน
โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน และหันมาออกกำลังกายมากขึ้น
อาหารและเครื่องดื่มที่ผู้ป่วยไมเกรนควรหลีกเลี่ยง
• เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ สุรา เบียร์ และไวน์ เนื่องจากมีส่วนกระตุ้นอาการปวดหัวไมเกรนค่อนข้างมาก
• เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อาทิ ชาและกาแฟ สามารถดื่มได้ในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่ควรดื่มเยอะเกินไป
• อาหารแปรรูปที่มีส่วนผสมของโซเดียมไนเตรท เพราะ อาจกระตุ้นไมเกรนได้เช่นกัน
• อาหารที่มีส่วนผสมของผงชูรส และสารทำความหวานต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ปวดหัว รวมทั้งไมเกรนด้วย
• อาหารรสจัด ไม่ว่าจะเป็นเผ็ดจัดหรือเปรี้ยวจัดล้วนแล้วแต่กระตุ้นให้อาการปวดหัวไมเกรนกำเริบทั้งสิ้น
ท่าออกกำลังกายเพื่อยับยั้งโรคไมเกรน
นอกจากการทานยาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตแล้วการออกกำลังกาย ก็เป็นหนึ่งสิ่งที่จะช่วยยับยั้งและบรรเทาอาการของไมเกรนได้เช่นกัน
โดยหลัก ๆ มีท่าออกกำลังกายที่ช่วยบำบัดไมเกรนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2 ท่า ดังนี้
ท่าที่ 1 : นั่งหลังตรง จากนั้นก้มหัวลงจนคางแตะหน้าอก ประสานมือทั้งสองแล้ววางลงบริเวณท้ายทอยแล้วกดค้างไว้ประมาณ 10 วินาที ลองทำประมาณ 3-5 ครั้งจะช่วยบรรเทาอาการไมเกรนให้ทุเลาขึ้น
ท่าที่ 2 : นั่งหลังตรง ตั้งข้อศอกขึ้น กางนิ้วมือเป็นรูปตัว L (ทำมือเป็นรูปปืน) จากนั้นให้วางนิ้วหัวแม่มือใต้ฐานกะโหลกศีรษะ บริเวณที่เป็นแอ่งเล็ก ๆ จากนั้นให้กดเบา ๆ แล้วหมุนวนประมาณ 10 วินาที ทำซ้ำประมาณ 3-5 รอบ ก็จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น
ไมเกรน ในเมื่อมันเกิดขึ้นได้ก็ย่อมมีวิธีรักษา และบำบัดให้อาการทุเลาเบาขึ้นได้เช่นเดียวกัน
สำหรับใครที่ปวดหัวไมเกรนบ่อยๆ อย่ามองข้ามโรคนี้เด็ดขาด ควรพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างตรงจุดจะดีที่สุด